กับข้อสงสัยที่ถามมาว่า หลอดไฟฮาโลเจน และหลอดไฟซีนอนนั้น แตกต่างกันอย่างไร เราจะมาไขข้อข้องใจกันดีกว่า
ปกติทั่วไป ในอดีต เรามักคุ้นเคยกับหลอดไฟแบบฮาโลเจน หรือหลอดไฟแบบมีไส้ภายในบรรจุก๊าซฮาโลเจน ซึ่งรายละเอียดของหลอดประเภทนี้ จะมีความแตกต่างแค่ในด้านขนาด รูปทรงของฐาน ความสว่าง หรือจำนวนของไส้ โดยมีรหัสเรียก เช่น H1 H2 H3 H4 มีราคาตั้งแต่หลอดละ 50 บาท จนไปถึงราคามากกว่า 1,000 บาท
เมื่อเปรียบเทียบการทำงานแบบง่ายๆ ของหลอดฮาโลเจน ก็คือ หลอดไฟแบบมีไส้จะจ่ายกระแสไฟฟ้าเข้าไปผ่านขดลวด ทำให้ไส้ร้อนเปล่งแสงผ่านก๊าซที่ชื่อ “ฮาโลเจน” ที่บรรจุอยู่ในหลอดกระเปาะรอบตัวไส้ ถ้าหลอดแตกจนก๊าซรั่วหรือไส้ขาด หลอดก็จะเสียหายชำรุดใช้งานไม่ได้ แรงเคลื่อนไฟจะอยู่ที่ 12 โวลต์ตรงๆ (DC) จากระบบปกติของรถ การเปิดให้สว่างก็แค่จ่ายกระแสไฟเข้าไฟแสงจะสว่างขึ้นอย่างฉับไว แบบเดียวกับที่กะพริบไฟสูงหากยังงงให้นึกถึงหลอดไฟที่ใช้ในบ้าน เป็นหลอดกลมๆ ทรงคล้ายน้ำเต้า มีไส้ต่อไฟโดยตรงนั่นเอง แสงของไฟมักจะสว่างแบบอมเหลืองดูโปร่งๆ
ส่วนหลอดไฟซีนอน ภายในบรรจุก๊าซชื่อ ซีนอน ไม่มีไส้โดยตรงแบบฮาโลเจน ทำงานคล้ายกับหลอดไฟนีออนที่ใช้ในบ้าน ต้องมีตัวแปลง และควบคุมกระแสไฟ เรียกว่า “บัลลาร์ด” เป็นกล่องคั่นระหว่างสายไฟปกติ ก่อนต่อเข้าตัวหลอด แสงจะออกมานวลๆ
การเปิดให้หลอดซีนอนสว่าง ตัวบัลลาร์ดจะสร้างกระแสไฟฟ้าแรงเคลื่อนสูงระดับ 20,000 กว่าโวลต์ (แรงเคลื่อนไฟฟ้ามีหน่อวยเป็นโวลต์ กำลังไฟฟ้ามีหน่วยเป็นวัตต์) ส่งเข้าไปยังตัวหลอดเพื่อจุดในครั้งแรก และในอีกประมาณ 1-2 วินาที ก็จะลดกระแสไฟฟ้าลงเหลือ 12 โวล์ต (หรือไม่กี่สิบโวลต์) ต่อเนื่องไป
สรุปง่ายๆ ว่า ระบบไฟซีนอน มีกระแสไฟเป็นหมื่นโวลต์ถูกสร้างขึ้นด้วยกล่องบัลลาร์ดในช่วงสั้นๆ เพื่อจุดหลอดให้สว่างเท่านั้น ต่อจากนั้นก็จะลดไฟลงมาเหลือไม่กี่สิบโวล์ตคงความสว่างไว้ตัวหลอดซีนอน จะต้องใช้เวลาประมาณ 1-2 วินาที กว่าจะสว่างเต็มที่หลังจากจุดครั้งแรก จึงทำให้ถูกใช้แต่หลอดไฟต่ำ แต่ไม่ใช้กับไฟสูง เพราะสว่างไม่ทัน ถ้ามีการกะพริบไฟหรือเปิดไฟสูงในทันที ไฟซีนอนที่มีทั้งไฟต่ำและสูง จึงไม่ใช่เป็นการแยก 2 หลอดจุดหลอดใหม่ แต่ใช้หลอดเดียวต่อข้าง สว่างตลอด และใช้การเลื่อนตัวหลอดหรือตัวบัง ให้เปลี่ยนเป็นไฟต่ำหรือสูงได้ในหลอดที่สว่างตลอดอยู่หลอดเดียว สรุปง่ายๆ ก็คือ ฮาโลเจน คล้ายกับหลอดไฟกลมที่ใช้ในบ้าน ต่อไฟเข้าไปโดยตรงเลย ส่วนซีนอนคล้ายกับหลอดนีออนที่บ้าน ไม่มีไส้ และต้องมีตัวแปลงไฟหรือบัลลาร์ด
ด้วยความโดดเด่นของไฟซีนอนว่า สว่างมีแสงขาวดีและมีราคาแพง จึงเป็นเหตุให้มีการใช้ชื่อซีนอน ไปเรียกหลอดฮาโลเจนแบบพิเศษหรือหลอดของแต่ง ที่มีความสว่างสูงกว่าปกติ หรือย้อมสีตัวเปลือกหลอดให้มีแสงไม่อมเหลือง เป็นแสงเกือบขาวหรืออมฟ้า แต่ยังไงก็ไม่เหมือนซีนอนแท้ๆ โดยเป็นหลอดฮาโลเจน แต่พยามเรียกว่าเป็นซีนอน นับว่าเมื่อไรเป็นหลอดฮาโลเจนของแต่งที่มีแสงสีขาว หรืออมฟ้าอมม่วง บางทีก็ถูกโมเมเรียกว่าซีนอนเลย ทั้งที่คนที่เรียกยังไม่เข้าใจระบบซีนอนจริงๆ ก็เป็นได้ ถ้าเป็นของราคาถูกยี่ห้อทั่วไปหรือของไต้หวันก็อาจจะมั่วเรียกว่าซีนอนเลย แต่ถ้าเป็นยี่ห้อดัง อาจจะอายหน่อย เรียกเลี่ยงๆ ว่า XENIN LOOKS หรือสารพัดประโยคที่จะหลอกให้เข้าใจผิดว่าเป็นซีนอน หลายคนจึงเข้าใจผิดว่า หลอดฮาโลเจนของแต่งที่สีขาวหรืออมฟ้า หรือสีแปลกๆ ราคาคู่ละหลายร้อยบาทหรือเป็นพันบาท คือ หลอดซีนอน ทั้งที่ไม่ใช่เลย
cr : ภาพ google