มาทำความรู้จักกับใบขับขี่แบบใหม่ที่มี QR Code

นับว่าเป็นเจเนอเรชั่นที่ 3 แล้วสำหรับใบอนุญาตขับขี่ ซึ่งเท่าที่จำความได้รูปแบบแรกที่เคยเจอเป็นแบบกระดาษ ถัดมาเป็นพลาสติกแบบแข็งที่เรียกว่าสมาร์ทการ์ด และแบบล่าสุดที่มีข่าวแจ้งออกมาคือบัตรแบบอาร์โค้ด (QR Code) ที่เชื่อมต่อข้อมูลกับทางภาครัฐฯ แบบอิเล็กทรอนิกส์
แต่ก่อนที่เราจะไปเรียนรู้เรื่องเกี่ยวกับขับขี่แบบใหม่ที่มี QR Code มาลองทำความเข้าใจกันก่อนว่า “ใบอนุญาตขับขี่” คืออะไร…

ใบขับขี่ หรือ ใบอนุญาตขับขี่ คือ เอกสารสำคัญสำหรับผู้ใช้รถบนท้องถนน ว่าสามารถใช้งานรถอะไรได้บ้างตามที่กฎหมายกำหนด อาทิ ใบอนุญาตขับขี่ตามกฎหมายว่าด้วยรถยนต์ รถจักรยานยนต์ รถรับจ้าง เป็นต้น หรือจะกล่าวง่ายๆ ก็คือ ใบขับขี่ คือ ใบอนุญาตให้คุณสามารถขับรถยนต์ รถจักรยานยนต์ หรือ รถประเภทอื่นๆ ตามที่ได้รับอนุญาต หากไม่มีใบอนุญาตขับขี่ แล้วกระทำการขับขี่จะถือว่าเป็นการกระทำที่ผิดตามกฎหมาย มีโทษทางแพ่ง รวมถึงจะเสียสิทธิ์จากการได้รับการคุ้มครองจากประกันภัยต่างๆ ที่เกี่ยวกับรถอีกด้วย
แล้วใบอนุญาตขับขี่แบบใหม่ที่มี QR Code ล่ะมีความพิเศษอย่างไร?

ในเรื่องนี้กรมการขนส่งทางบก เปิดเผยว่า กรมการขนส่งทางบกยกระดับมาตรฐานคุณภาพใบอนุญาตขับรถสู่ระดับสากล เพื่อคุ้มครองสิทธิของผู้ได้รับใบอนุญาตขับรถด้วยนวัตกรรมป้องกันการปลอมแปลง ตั้งแต่วันที่ 4 ก.ย. 2560 เป็นต้นไป กรมจะเริ่มดำเนินการออกใบอนุญาตขับรถแบบบัตรพลาสติก (Smart card) รูปแบบที่มีระบบตรวจสอบข้อมูลด้วยคิวอาร์โค้ด (QR Code) เพียงรูปแบบเดียว ให้แก่ผู้ขอรับใบอนุญาตขับรถทั้งตามกฎหมายว่าด้วยรถยนต์และกฎหมายว่าด้วยการขนส่งทางบก โดยจะไม่มีการออกใบอนุญาตขับรถที่เป็นแบบกระดาษให้อีก เพื่อประโยชน์ในการควบคุมกำกับดูแลความปลอดภัยของประชาชนผู้ใช้รถใช้ถนนอย่างมีประสิทธิภาพและเป็นมาตรฐานเดียวกันทั่วประเทศ ซึ่งจะมีค่าธรรมเนียมและค่าคำขอตามชนิดใบอนุญาตขับรถ โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายเพิ่ม 100 บาท ที่เป็นแบบสมัครใจตามเดิมที่เคยจัดเก็บ เนื่องจากเป็นการดำเนินการเองโดยกรมการขนส่งทางบกแล้ว

ทั้งนี้ สำหรับใบอนุญาตขับรถที่ออกให้ก่อนวันที่ 4 ก.ย. 2560 ทุกชนิดทุกประเภทยังใช้งานได้จนกว่าจะสิ้นอายุ รวมถึงใบอนุญาตขับรถชนิดตลอดชีพสามารถใช้ได้ตลอดไปโดยไม่จำเป็นต้องเปลี่ยน อย่างไรก็ตาม หากผู้ถือใบอนุญาตแบบเดิมที่ต้องการเปลี่ยนรูปแบบเป็นแบบที่มีคิวอาร์โค้ด หรือกรณีใบอนุญาตขับรถชำรุด สูญหาย สามารถขอเปลี่ยนได้โดยมีค่าธรรมเนียมและค่าคำขอตามชนิดใบอนุญาตขับรถ

ใบอนุญาตขับรถ Smart card รูปแบบที่มีคิวอาร์โค้ด นอกจากจะมีความคงทนถาวร เนื่องจากใช้วัสดุทำตัวบัตรพลาสติกที่ได้มาตรฐานและมีคุณภาพแล้ว ยังมีความปลอดภัยสูงในการใช้งาน ด้วยระบบรักษาความปลอดภัยข้อมูลส่วนบุคคลและนวัตกรรมป้องกันการปลอมแปลง เช่น การพิมพ์และการเคลือบบัตรด้วยเทคโนโลยีโฮโลแกรมป้องกันการปลอมแปลง ด้านหน้าบัตร แสดงข้อมูลเฉพาะของผู้ถือใบอนุญาตขับรถ ประกอบด้วย ชื่อ-นามสกุล ทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ สามารถนำไปใช้ขับรถได้ในประเทศสมาชิกอาเซียนโดยไม่ต้องทำใบอนุญาตขับรถสากล ภาพถ่ายผู้ถือใบอนุญาตขับรถ ชนิดใบอนุญาตขับรถ นายทะเบียนที่ออกใบอนุญาตขับรถ วันที่ออกและวันสิ้นอายุใบอนุญาตขับรถ

ด้านหลังบัตร มีรหัสกำกับบัตร แถบแม่เหล็ก (Magnetic Strip) รองรับการใช้งานกับเครื่องแสดงตัวตนในการขับรถ เช่น เครื่องรูดบัตรของรถโดยสารสาธารณะ และรถบรรทุกขนส่ง ทั้งรถบรรทุกวัตถุอันตราย และรถบรรทุกสิบล้อขึ้นไป รถแท็กซี่ หรือรถในกลุ่มเป้าหมายตามที่กรมการขนส่งทางบกประกาศบังคับใช้ และที่เพิ่มเติมใหม่ คือ ระบบจัดเก็บและตรวจสอบข้อมูลทางอิเล็กทรอนิกส์ด้วยคิวอาร์โค้ด บันทึกข้อมูลที่นอกเหนือจากข้อมูลที่ปรากฏบนหน้าบัตร เช่น ประวัติส่วนบุคคล ข้อมูลการทำใบอนุญาตขับรถ การต่ออายุ เอกสารหลักฐาน ขั้นตอน ค่าใช้จ่าย เป็นต้น

โดยมีระบบรักษาความปลอดภัยและกำหนดสิทธิการเข้าถึงข้อมูลส่วนบุคคลเป็นลำดับชั้น ซึ่งการจะเข้าถึงข้อมูลส่วนบุคคลได้ต้องลงทะเบียนผ่านแอพพลิเคชั่น : QR Licence ของกรมการขนส่งทางบก และยืนยันตัวตนด้วยหมายเลขประจำตัวประชาชน เบอร์โทรศัพท์ และต้องสแกนคิวอาร์โค้ดหลังใบอนุญาตขับรถเท่านั้น โดยจะเปิดให้ดาวน์โหลดแอพพลิเคชั่น : QR Licence ผ่าน Play Store และ Apple Store เร็วๆ นี้

ใบอนุญาตขับขี่แบบใหม่ที่มี QR Code ใช้งานแตกต่างกับบัตรสมาร์ทการ์ดแบบเดิมอย่างไร?

ความพิเศษของบัตรแบบที่มี QR Code คือการรวบรวมข้อมูลต่างๆ ไว้อย่างครบถ้วนไม่ว่าจะเป็นการจัดเก็บและตรวจสอบข้อมูลทางอิเล็กทรอนิกส์ด้วยคิวอาร์โค้ด โดยบันทึกข้อมูลที่นอกเหนือจากข้อมูลที่ปรากฏบนหน้าบัตร เช่น ประวัติส่วนบุคคล ข้อมูลการทำใบอนุญาตขับรถ การต่ออายุ เอกสารหลักฐาน ขั้นตอน ค่าใช้จ่าย เป็นต้น (คิดว่าในอนาคต คงเหมือนในหนังต่างประเทศที่สามารถเช็คประวัติการใช้รถได้โดยทันทีเวลาที่มีคนกระทำความผิด หรือแม้กระทั่งสามารถเชื่อมต่อไปยังทะเบียนตำรวจ เพื่อตรวจสอบพฤติกรรมว่าเป็นผู้ต้องสงสัยหรือไม่)

ในด้านรูปแบบการใช้งานส่วนใหญ่ยังยึดถือรูปแบบคงเดิม คือสามารถนำไปใช้งานได้ 10 ประเทศ ตามนโยบายของกรมการขนส่งทางบก เพื่อต้อนรับกับแผนประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนหรือที่เรารู้จักกันในชื่อ AEC เพื่อเพิ่มอำนาจต่อรองกับคู่ค้า และเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันทางด้านเศรษฐกิจระดับโลก และยังเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวของเขตภูมิภาคอาเซียนอีกด้วย ตามข้อตกลงในการรับรู้ใบอนุญาตขับขี่รถส่วนบุคคลในประเทศออกให้โดยกลุ่มประเทศอาเซียน เมื่อ 9 กรกฎาคม 1985 ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์

ทำให้ใบขับขี่ที่เราถือครองอยู่สามารถใช้งานได้ในเขตประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนได้โดยที่ไม่ต้องไปขอใบขับขี่สากลให้ยุ่งยากเสียเวลา ซึ่งประเทศที่เราสามารถนำใบขับขี่ไปใช้งานได้ในทันทีได้แก่ ลาว เวียดนาม กัมพูชา เมียนม่าร์ มาเลเซีย อินโดนีเซีย บรูไน ฟิลิปปินส์ และสิงคโปร์ นอกจากนี้เรายังสามารถนำรถของประเทศไทยไปขี่ในประเทศเหล่านั้นได้ เพียงแค่ไปติดต่อดำเนินการทางทะเบียนยังสำนักงานขนส่งท้องที่รถคันนั้น

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *