OTOP Midyear 2018 เสริมแกร่งเศรษฐกิจฐานราก มหาดไทยปลื้ม ประชาชนกว่า 4 แสนคนแห่ช้อปสินค้าอัตลักษณ์ชุมชน สวนกระแสเศรษฐกิจ ทุบสถิติยอดขายกว่า 1,266 ล้านบาท สูงเป็นประวัติการณ์กว่าทุกครั้งตลอดการจัดงาน 10 ปี ช่วยสร้างโอกาส สร้างอาชีพ สร้างรายได้สู่ชุมชนอย่างทั่วถึง แก้ปัญหาความยากจนของชาวบ้านได้อย่างเป็นรูปธรรม
ปิดฉากลงแล้วอย่างยิ่งใหญ่ สำหรับงาน OTOP MIDYEAR 2018 ที่จัดขึ้นภายใต้แนวคิด “OTOP Midyear 2018 : OTOP Signature เอกลักษณ์จากเสน่ห์วิถีไทยนิยม” ระหว่าง 9- 17 มิถุนายน 2561 ณ อาคารชาเลนเจอร์ 1 – 3 อิมแพ็ค เมืองทองธานี โดยเป็นการจัดงานปีที่ 10 และครั้งนี้มีสินค้า OTOPจำหน่ายกว่า 10,000 รายการ 2,500 ร้านค้า สรุปยอดจำหน่าย 9 วัน รวม 1,266,285,543 บาท ยอดผู้เข้าชมงาน 414,076 คน โดยประเภทสินค้าผ้าและเครื่องแต่งกายเป็นกลุ่มที่มียอดจำหน่ายสูงที่สุดรวมกว่า 420 ล้านบาท รองลงมาคือประเภทของใช้และของตกแต่ง กว่า 141 ล้านบาท และลำดับสามเป็นประเภทอาหารกว่า 125 ล้านบาท ทั้งนี้ยอดจำหน่ายงาน OTOP Midyear 2018 นับเป็นการทำลายทุกสถิติยอดขายงาน OTOP Midyear ตลอดการจัดงานต่อเนื่อง 10 ปี โดยก่อนหน้านี้ OTOP Midyear 2014 มียอดขาย 972 ล้านบาท ขณะที่งานใหญ่ปลายปี OTOP City 2017 ที่ผ่านมายอดขาย 1,217 ล้านบาท
พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ซึ่งเป็นประธานเปิดงาน “OTOP MIDYEAR 2018” ในปีนี้ กล่าวว่า “ขอขอบคุณพี่น้องประชาชน และทุกภาคส่วนที่ได้ร่วมกันสนับสนุนการจัดงานในครั้งนี้ จนประสบผลสำเร็จเกินกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ ทั้งนี้ การสนับสนุนการผลิตและจำหน่ายสินค้า OTOP สอดคล้องตามแนวนโยบายของรัฐบาล ซึ่งมุ่งเน้นประเด็นยุทธศาสตร์ที่สำคัญ คือ การสร้างความเป็นธรรม ลดความเหลื่อมล้ำในสังคม และการสร้างความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจ และแข่งขันได้อย่างยั่งยืน โดยปัจจุบันมีผู้ผลิต ผู้ประกอบการ OTOP มาลงทะเบียนจำนวนมากถึง 61,582 ราย รวม 126,462 ผลิตภัณฑ์ ก่อให้เกิดการสร้างงาน สร้างอาชีพ และสร้างรายได้ให้กับประชาชนอย่างกว้างขวาง การจัดงานในครั้งนี้นอกจากจะประสบความสำเร็จเรื่องยอดขายแล้ว ยังได้แสดงศักยภาพให้ชาวไทยและชาวต่างชาติได้เห็นถึงความก้าวหน้าในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ OTOP ที่มีการยกระดับคุณภาพมาตรฐานของผลิตภัณฑ์ OTOP สู่สากลให้สามารถทำการตลาดเชิงรุกทั้งในและต่างประเทศอีกด้วย”
โดยหลังจากนี้ กรมการพัฒนาชุมชนจะสานต่อการขับเคลื่อนสร้างความแข็งแกร่งให้เศรษฐกิจฐานราก ด้วยโครงการ “ชุมชนท่องเที่ยว OTOP นวัตวิถี” ซึ่งเป็นการพลิกโฉมการพัฒนา OTOP อีกครั้ง โดยจะเน้นการนำนักท่องเที่ยวเข้าสู่ชุมชน เพื่อซื้อสินค้าจากผู้ผลิตในชุมชนโดยตรง ซึ่งจะทำให้ทุกชุมชนหมู่บ้านทั่วประเทศมีการกระจายรายได้อย่างทั่วถึง นำไปสู่การสร้างความสุขสู่ชุมชนได้อย่างยั่งยืน