ญี่ปุ่นมักจะมีรูปแบบและสไตล์ในหลายๆ เรื่องที่ไม่เหมือนใคร เพราะทุกอย่างถูกออกแบบและสร้างสรรค์ขึ้นมาโดยสอดคล้องกับสภาพความเป็นอยู่และรูปแบบการใช้ชีวิตของพวกเขา ซึ่งรถยนต์ก็เช่นเดียวกัน
บ่อยครั้งที่เราอาจจะได้ยินเรื่องเล่าแปลกๆ จากคนญี่ปุ่นเกี่ยวกับเรื่องการใช้รถยนต์ของพวกเขา เช่น การที่จะซื้อรถยนต์สักคัน จะต้องมีที่จอดก่อน หรือการออกแบบรถยนต์สักคันจะถูกบีบบังคับโดยพื้นที่จอดรถในเมือง โดยเฉพาะในแง่ของความสูง และขนาดความกว้างของตัวถัง ซึ่งจะส่งผลต่อการจัดเก็บภาษีอีกด้วย
ส่วนอีกประเด็นหนึ่งที่น่าจะเรียกว่าเป็น Japan Only คือการพัฒนารถยนต์ขนาดเล็กที่เรียกว่า K-Car หรือ Kei Car ออกมา
คำนี้เรียกได้ 3 แบบ คือ Kei car, K-car หรือ keijidōsha (軽自動車?, lit. “light automobile”) ซึ่งคำหลังสุดเป็นชื่อเต็มและความหมายของรถยนต์ประเภทนี้ นั่นคือ รถยนต์ขนาดเล็กที่มีน้ำหนักเบา ซึ่งเคจิโดชาเป็นเซ็กเมนท์รถยนต์ที่มีขายเฉพาะในญี่ปุ่นเท่านั้น และได้รับการออกแบบและพัฒนาภายใต้พิกัดการเสียภาษีและการประกันภัยที่มีรูปแบบเฉพาะของญี่ปุ่น
จุดเริ่มต้นของ Kei-Car มีขึ้นหลังจากที่ญี่ปุ่นฟื้นตัวจากการเป็นผู้แพ้ในสงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งแน่นอน เมื่อเศรษฐกิจและบ้านเมืองฟื้น ความต้องการของคนก็ฟื้นตาม และรถยนต์ก็กลายเป็นอีกอุตสาหกรรมหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของญี่ปุ่น ซึ่งคนในยุคนั้นเมื่ออยู่ดีกินดีขึ้น ความต้องการก็เปลี่ยนจากจักรยานมาเป็นมอเตอร์ไซค์ และจากมอเตอร์ไซค์ก็มาเป็นรถยนต์ที่มีราคาพอที่จะเป็นเจ้าของได้
Kei-Car เป็นรถยนต์ที่ถูกผลิตขึ้นมาเพื่อตอบรับกับลูกค้าที่มีกำลังทรัพย์มากพอที่จะซื้อมอเตอร์ไซค์ แต่ยังไม่มากพอที่จะไต่ไปถึงรถยนต์นั่งในขนาดปกติได้ ซึ่งจะว่าไปแล้วแนวคิดนี้ก็เหมือนกับที่ทาทาเปิดตัวรุ่นนาโนออกมา และเมื่อบวกกับความต้องการให้อุตสาหกรรมรถยนต์มีการขยานตัว มาตรฐานของ Kei-Car ก็เลยถูกจัดตั้งขึ้นมา
จากการที่ตัวรถจะต้องใช้ป้ายทะเบียนที่เป็นสีเหลือง ไม่น่าแปลกใจเลยว่าชื่อเล่นอีกชื่อของ Kei Car คือ Yellow-Plate Car โดยถ้าเป็นพื้นเหลืองตัวหนังสือดำก็เป็น Kei Car สำหรับการใช้งานส่วนบุคคล
ที่ผ่านมา Kei Car มีขายเฉพาะในญี่ปุ่น และก็มีแค่ผู้ผลิตรถยนต์ญี่ปุ่นเท่านั้นที่ทำขึ้นมา แต่จากการนำเข้าสมาร์ท ฟอร์ทูเข้ามาตลาดญี่ปุ่น ถือเป็นครั้งแรกที่ Kei Car มีรถยนต์ที่ไม่ได้ผลิตจากแบรนด์ในญี่ปุ่นทำตลาด
แน่นอนว่ารถยนต์ประเภทนี้ถูกจำกัดในเรื่องของรายละเอียดทางวิศวกรรม ทั้งขนาดของตัวรถ ความจุของเครื่องยนต์และกำลัง ดังนั้น ถ้าจะบอกว่ารถยนต์เหล่านี้คือ รถยนต์ราคาประหยัดก็คงไม่ถูกนัก เพราะหลายผู้ผลิตรถยนต์ต่างแข่งขันกันในการสร้างความโดดเด่นในตลาด Kei Car และมีการนำเทคโนโลยีใหม่ๆ เข้ามาติดตั้งในรถยนต์ประเภทนี้หลายต่อหลายอย่าง
นับจากข้อกำหนดแรกเริ่มในปี 1948 ปัจจุบัน Kei-Car มีการปรับปรุงข้อกำหนดหลายครั้งเพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการที่แท้จริงของลูกค้าและสภาพที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน สำหรับสเปกล่าสุดที่ใช้กันเป็นข้อกำหนดที่เกิดขึ้นในปี 1998
แม้ดูแล้วบางคนอาจบอกว่าเหมือนกระป๋องติดล้อ แต่ด้วยราคาที่ไม่แพง การเสียภาษีที่ต่ำ ความประหยัดน้ำมัน สามารถซอกซอนไปตามตรอกซอกซอยในเมืองใหญ่ๆ ได้ ทำให้ Kei Car ได้รับความนิยมอย่างมากในญี่ปุ่น ซึ่ง 1/3 ของรถยนต์ที่ขายในญี่ปุ่นเมื่อปี 2008 คือ รถยนต์ในกลุ่มนี้ Kei Car เป็นรถยนต์ที่มีความยาวไม่เกิน 3.4 เมตร กว้างไม่เกิน 1.48 เมตร และสูงไม่เกิน 2 เมตร เครื่องยนต์ก็ถูกจำกัดเอาไว้ไม่เกิน 660 ซีซี ซึ่งทั้งหมดก็เพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการที่แท้จริงของญี่ปุ่น’
สำหรับในเรื่องของภาษีแล้ว ถือว่าจ่ายถูกมาก เพราะภาษีประจำปีของ Kei Car อยู่ที่ 7,200 เยน หรือ 2,660 บาท ต่างจากรถยนต์เครื่องยนต์ในพิกัดไม่เกิน 1,500 ซีซีซึ่งต้องเสียมากถึง 34,000 เยน หรือ 12,580 บาทเลยทีเดียว ส่วนราคาขายก็มีระหว่าง 700,000 ถึง 1.6 ล้านเยน หรือ 260,000-592,000 บาท
ในปัจจุบัน 40% ของครอบครัวญี่ปุ่นจะมี Kei Car อยู่ในครอบครอง แต่น่าแปลกตรงที่ครอบครัวซึ่งอาศัยอยู่ในเมือง Kei Car มักจะเป็นรถยนต์คันที่ 2 หรือ 3 ส่วนครอบครัวที่อาศัยอยู่ชานเมืองจะเป็นรถยนต์คันแรก โดยตรงนี้ทาง Ito อธิบายว่าเป็นเพราะ Kei Car ที่ขายในญี่ปุ่นไม่ได้จำกัดว่าจะต้องเป็นรถยนต์แบบ 2 กล่องท้ายตัดเท่านั้น แต่ยังมีตัวถังแบบเอสยูวี หรือปิกอัพ รวมถึงรถตู้เล็กๆ ทำตลาดด้วย ซึ่งรถยนต์ในลักษณะนี้สามารถรองรับการบรรทุกได้ถึง 350 กิโลกรัมเลยทีเดียว
‘ถ้าได้ลองใช้แล้วจะรู้ว่า Kei Car มีจุดเด่นกว่ารถยนต์ปกติ ข้อแรกคือ ราคาถูก ข้อสอง ค่าบำรุงรักษาไม่แพงจนเกินไป และไม่กินน้ำมัน การจ่ายภาษีประจำปีก็ต่ำกว่ารถยนต์รุ่นอื่นๆ และสุดท้าย ด้วยตัวถังที่แคบก็เลยมีความคล่องตัว’ Ito ให้เหตุผล
สำหรับรถยนต์ในกลุ่ม Kei Car ที่ได้รับความนิยมนั้นหนีไม่พ้นซูซูกิ ในตระกูล R ซึ่งในปีที่แล้ว ส่วนใหญ่ของยอดขาย 1.87 ล้านคันเป็นรถยนต์จากตระกูลนี้ โดยซูซูกิเริ่มเปิดตัวรถยนต์ในตระกูล R หรือแวกอน อาร์ในปี 1993 และทำตลาดเรื่อยมาจนกระทั่งในปี 2003 ได้กลายเป็นรถยนต์ Kei Car ที่มียอดขายต่อปีสูงสุดมาตลอด โดยในรุ่นปัจจุบันที่ทำตลาดถือเป็นเจนเนอเรชันที่ 4 แล้ว
สรุปข้อกำหนดเกี่ยวกับ Kei Car ในญี่ปุ่น
ปีที่ออกกฎ | ยาวสูงสุด | กว้างสูงสุด | สูงสูงสุด | ซีซีสูงสุด | กำลังสูงสุด | |
4จังหวะ | 2 จังหวะ | |||||
8 ก.ค. 1949 | 2.8 เมตร | 1 เมตร | 2 เมตร | 150 cc | 100 cc | ไม่ระบุ |
26 ก.ค. 1950 | 3 เมตร | 1.3 เมตร | 300 cc | 200 cc | ||
16 ส.ค. 1951 | 360 cc | 240 cc | ||||
4 เม.ย. 1955 | 360 cc | |||||
1 ม.ค. 1976 | 3.2 เมตร | 1.4 เมตร | 550 cc | |||
มี.ค. 1990 | 3.3 เมตร | 660 cc | 47 กิโลวัตต์ (64 PS; 63 hp) | |||
1 ต.ค. 1998 | 3.4 เมตร | 1.48 เมตร |