มาตามกระแสเรื่องด่านตรวจกันหน่อย เพราะเมื่อสองเดือนที่ผ่านมานับว่า มีข่าวคราวเกี่ยวกับวงการตำรวจจราจรครั้งใหญ่ หลังจากได้รับการร้องเรียกจากประชาชนว่า “เจ้าหน้าที่ตำรวจจราจร ตั้งด่านลอยโดยไม่ถูกต้องตามกฎหมาย” ทำให้เกิดเสียงวิภาควิจารณ์กันอย่างหนาหูเลยว่าเป็นการกระทำรีดไถพี่น้องประชาชนผู้ใช้รถ
ซึ่งในครั้งนี้เรา จะพาทุกคนไปรู้จักกับประเภทของด่านต่างๆ ว่ามีกี่ประเภท และมีความแตกต่างกับ “ด่านลอย ด่านเถื่อน” อย่างไรบ้าง
เรามาเริ่มต้นที่ “ด่านลอย ด่านเถื่อน” อย่างที่รู้ๆ กันอยู่ว่าด่านประเภทนี้จะมีแค่ตำรวจเพียงแค่ 2-3 คน หลบมุมตามตรอกซอกซอยต่างๆ หรือไม่ก็พุ่มไม้ริมถนน ไม่มีนายตำรวจยศสัญญาบัตรควบคุม ไม่มีป้ายบอกแสดงเตือน และตั้งอยู่ไม่เป็นที่เป็นทาง ซึ่งนอกจากการรีดไถแล้วยังสร้างปัญหาบนท้องถนนอีกด้วย ไม่ว่าจะเป็นการกีดขวางการจราจร รวมไปถึงอันตรายบนท้องถนน ที่เจ้าหน้าที่เหล่านั้นเดินตัดข้ามถนนเพื่อเรียกจับแบบกระชั้นชิด จนทำให้เกิดความสูญเสียทั้งประชาชนผู้ใช้รถใช้ถนนและตัวตำรวจเอง
ส่วนด่านที่ถูกต้องตามกฎหมายล่ะเป็นอย่างไร? เราจะจำกัดความให้ผู้อ่านได้เข้าใจดังนี้
“ด่านตรวจ”
หมายถึง สถานที่ทำการที่เจ้าพนักงานตำรวจออกปฏิบัติหน้าที่ในการตรวจค้นเพื่อจับกุมผู้กระทำความผิดในเขตทางเดินรถ ตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก โดยระบุสถานที่ไว้ชัดแจ้งเป็นการถาวร การตั้งด่านตรวจจะต้องได้รับอนุมัติจากคณะรัฐมนตรี หรือผู้มีอำนาจตามกฎหมายว่าด้วยทางหลวง หรือกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร หรือ กอ.รมน. แล้วแต่กรณี
“จุดตรวจ”
หมายถึงสถานที่ที่ตำรวจออกมาปฏิบัติหน้าที่ตรวจค้น เพื่อจับกุมผู้กระทำความผิด โดยได้รับการอนุญาตจากกองบังคับการ มีแผนงานการจัดตั้งที่แน่นอนชัดเจนว่าจะตั้งที่ไหน เวลาเท่าไหร่ ใครเป็นผู้ควบคุม เมื่อเสร็จสิ้นภารกิจแล้วจะต้องยุบเลิกจุดตรวจทันที ซึ่งการตั้งด่านตรวจประเภทนี้ต้องได้รับอนุมัติจากนายตำรวจระดับผู้บังคับการ (ยศ พลตำรวจตรี) ขึ้นไป
“จุดสกัด”
หมายถึง สถานที่ที่เจ้าพนักงานตำรวจออกปฏิบัติหน้าที่ตรวจค้นเพื่อจับกุมผู้กระทำความผิดในเขตทางเดินรถหรือทางหลวง ในกรณีที่มีเหตุการณ์ฉุกเฉินหรือจำเป็นเร่งด่วนเกิดขึ้นเป็นการชั่วคราว และจะต้องยุบเลิกเมื่อเสร็จสิ้นภารกิจดังกล่าว โดยการตั้งด่านประเภทนี้ต้องได้รับอนุญาตจากหัวหน้าสถานีตำรวจในท้องที่นั้นๆ
การตั้งด่านจะต้องมีเครื่องหมายจราจรว่า “หยุดตรวจ” มีสิ่งกีดขวางหรือสัญญาณให้เป็นที่สังเกตเห็นได้ง่ายในระยะไกล ส่วนในเวลากลางคืนต้องจัดให้มีแสงสว่าง และมองเห็นในระยะไม่น้อยกว่า 150 เมตรก่อนถึงจุดตรวจ รวมทั้งต้องมีแผ่นป้ายแสดงยศชื่อ นามสกุล และตำแหน่งของหัวหน้าเจ้าหน้าที่ตำรวจประจำด่านตรวจและจุดตรวจ พร้อมทั้งจะต้องมีแผ่นป้ายแสดงข้อความว่า “หากพบเจ้าหน้าที่ทุจริต หรือประพฤติมิชอบให้แจ้ง ผู้บังคับการ พร้อมเบอร์โทรศัพท์” มองเห็นในระยะไม่น้อยกว่า 15 เมตร
นอกจากนี้ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติได้บอกอีกว่าหากประชาชนยังคงพบเห็นการตั้งด่านลอยของเจ้าหน้าที่ตำรวจอยู่ สามารถถ่ายภาพหรืออัดคลิปวิดีโอส่งเข้ามายังเฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ ของเพจ “รายงานสภาพการจราจร ตร. หรือ โฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ” หรือสามารถโทรศัพท์เข้ามาร้องเรียนได้ที่หมายเลข 1197 ได้ทันที แต่ก็ระวังไว้นิดนะครับถ้าหากใช้กล้องมือถือขณะขับรถ ท่านอาจโดนจับเสียเองได้ในข้อหา “ใช้โทรศัพท์มือถือในขณะขับรถ” ก็ได้นะครับ